ประวัติและบทบาท

ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีจุดเริ่มต้น จากหลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหาร ซึ่งเดิมเป็นสาขาวิชาหนึ่งในภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนิสิตรุ่นแรก ๗ คน (ในปีพ.ศ. ๒๕๐๘) ก่อนก่อตั้งเป็นภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหารในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๗ จนถึงปัจจุบันมีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ๕๐ รุ่นในปีพ.ศ. ๒๕๕๗ และเมื่อรวมกับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตแล้วก็มีจำนวนมากกว่า ๒,๐๐๐ คน โดยเป็นกำลังสำคัญของ องค์กรภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย หรือมุ่งมั่นศึกษาต่อสำหรับขั้นสูงทั้งในสถาบันการศึกษาระดับประเทศและระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงทั่วโลก

ก่อตั้งหลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหาร
การจัดตั้งหลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหาร เกิดจากสาเหตุหลักที่ว่าอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในสมัยนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังมีขีดจำกัดในการพัฒนาและขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ครอบคลุมทั้งด้านวิศวกรรมและกระบวนการผลิต ควบคู่กับความรู้ด้านเคมีชีวภาพ จุลินทรีย์ และสุขอนามัย ที่จะช่วยให้สามารถผลิตอาหารให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย การเรียนการสอนในขณะนั้นไม่มีหลักสูตรใดที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตบุคลากรเฉพาะทางดังกล่าว ภาควิชาเคมีเทคนิคจึงพยายามผลักดันเพื่อให้มีหลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหารขึ้นระหว่างเวลาหลายปีในอดีต

ในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๐๗ ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ (คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น) และ ศาสตราจารย์ ดร.ประสม สถาปิตานนท์ (หัวหน้าภาควิชาเคมีเทคนิคในขณะนั้น) ประกาศมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารคณะวิทยาศาสตร์ อนุมัติการจัดตั้งสาขาและหลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหารขึ้น ซึ่งถือเป็นสาขาวิชาหนึ่งของภาควิชาเคมีเทคนิค และเปิดให้นิสิตในภาควิชาเคมีเทคนิค ชั้นปีที่ ๓ (ปีการศึกษา ๒๕๐๗) สามารถเลือกเรียนในสาขาดังกล่าวได้ โดยมีการเรียนการสอนในปีการศึกษา ๒๕๐๘ เป็นปีแรก

นิสิตในหลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหารรุ่นแรกมีจำนวนทั้งหมด ๗ ท่าน ซึ่งในช่วงปีที่ ๔ และปีที่ ๕ (ในช่วงเวลาดังกล่าวหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต มีการเรียนทั้งหมด ๕ ปี) นิสิตได้เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางอาหาร อาทิ Food Processing, Process Engineering, Biochemistry, Microbiology, Nutrition เป็นต้น ก่อนจบการศึกษาภายใต้ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมีเทคนิค (เทคโนโลยีทางอาหาร)

การเรียนการสอนภายใต้หลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหารช่วงแรกนั้นสอนโดยอาจารย์จากภาควิชาเคมีเทคนิค อาจารย์จากสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ในขณะนั้น) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอาจารย์เฉพาะทาง มีการเชิญอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงอุตสาหกรรม มาร่วมสอนในหลักสูตร และด้วยสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวนี้เองที่ทำให้หลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากหลักสูตรวิทยาศาสตร์อาหารอื่นๆ ในประเทศไทย

จากสาขาสู่ภาควิชา
ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๗ หลังจากมีการเปิดหลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหารมาเป็นระยะเวลาเกือบ ๒๐ ปี สภามหาวิทยาลัย อนุมัติให้ตั้ง “ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร” เป็นส่วนราชการใหม่แยกออกมาจากภาควิชาเคมีเทคนิค และมีการเรียนการสอนในหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีทางอาหาร ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่เกี่ยวข้องกับทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๗ เล่มที่ ๑๐๑ ตอนที่ ๕ ก ฉบับพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ระบุให้ “ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร” เป็นส่วนราชการใหม่ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

historyIMG

หลังจากการก่อตั้ง ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหารได้พัฒนาหลักสูตรและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิตระดับปริญญาโทในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ระดับปริญญาเอกในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติในปี พ.ศ. ๒๕๔๔

ในปีพ.ศ.๒๕๕๓ ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร ซึ่งแม้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่เหตุเพลิงไหม้นี้ก็ได้สร้างความเสียหายต่ออาคารและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ทำให้ภาควิชาฯ ต้องจัดหางบประมาณเพื่อซ่อมแซม ส่วนหนึ่งได้รับความช่วยเหลือจากทางคณะวิทยาศาสตร์ สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ และอีกส่วนหนึ่งได้จากการระดมเงินบริจาคจากนิสิตเก่าภาควิชาฯ นับเป็นจุดกำเนิดของชมรมนิสิตเก่าภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร ที่ก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้มีนโยบายในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการเกษตรแบบครบวงจร อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้จัดงบประมาณในการก่อสร้างอาคารศูนย์นวัตกรรมอาหารฯ ที่ได้รับพระราชทานชื่ออาคารว่า “อาคารมหาวชิรุณหิศ” ทำให้ภาควิชาฯ ได้รับความช่วยเหลือด้านงบประมาณ จนการก่อสร้างสำเร็จลุล่วงด้วยดี และในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ภาควิชาฯ ก็ได้ย้ายเข้ามาสู่ในอาคารใหม่แห่งนี้ และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภาควิชาฯ

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอาคารสถานที่แล้วนั้น โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ หลักสูตรปริญญาบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีทางอาหารของภาควิชาฯได้รับการรับรองเทียบเท่ามาตรฐานสากลโดย The International Union of Food Science and Technology (IUFoST) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร โดยสถาบันในแถบอาเซียนอื่นๆที่ได้รับการรับรองนี้เช่นกันได้แก่ National University of Singapore, Singapore Polytechnic, Nanyang Polytechnic และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะกรรมการได้ตรวจประเมินและให้คำแนะนำต่างๆเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทั้งในด้านหลักสูตร การเรียนการสอน การทำงานวิจัย ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนและงานวิจัย รวมไปถึงการสัมภาษณ์คณาจารย์ และนิสิตปัจจุบันถึงความพึงพอใจและสิ่งที่ได้รับจากภาควิชา

หลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหารมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันหลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหาร ระดับปริญญาบัณฑิต แบ่งเป็น 2 แขนงวิชา คือ แขนงวิชาเทคโนโลยีทางอาหาร และแขนงวิชา เทคโนโลยีชีวภาพ และมีการเพิ่มเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารในเชิงประยุกต์มากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทุกด้านของอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ บรรจุภัณฑ์ อาหารปลอดภัย การประกันคุณภาพ โภชนาการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น ปัจจุบันภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหารได้ผลิตนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารในทุกระดับการศึกษาเข้าสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ตลอดจนภาคการศึกษาอย่างต่อเนื่อง นิสิตเก่าหลายท่านได้มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาวงวิชาการและอุตสาหกรรมอาหารของไทย จึงนับเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งของหลักสูตรเทคโนโลยีทางอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังพันธกิจที่มหาวิทยาลัยมุ่งหมายเพื่อเป็น “เสาหลักของแผ่นดิน”

demo-dept-history-dwn-btn-01